25 ม.ค. 61 : 15:41 น.
สวัสดีครับเพื่อนๆ วันสองวันที่ผ่านมานี้ คนที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานครฯ อาจเห็นได้ว่ามีหมอกขาวๆปกคลุมไปทั่วเลย แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เอ๊ะ!!! หมอกลงตลอดทั้งวันแต่ทำไมอากาศยังร้อนอบอ้าวอยู่ ถ้ามีหมอกลงอากาศต้องเย็นๆ หนาวๆ สิ นั่นแหละครับ ไอ้ที่เห็นหมอกขาวๆนั้น แน่นอนเลยครับว่าไม่ใช่หมอก มันคือฝุ่นมลภาวะที่ตกค้างอยู่ที่กรุงเทพมหานครฯครับ เอ้าแล้วทำไมมันถึงมีฝุ่นมลภาวะตกค้างละ เป็นเพราะอะไร แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร วันนี้แอดมินได้ไปหาข้อมูลมาจากกรมควบคุมมลพิษมาให้ทุกท่านได้รับทราบกันแล้ว อย่ารอช้าไปอ่านข้อมูลต่อไปนี้กันเลยครับ
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผย กทม.เกิดสภาพอากาศนิ่ง และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม.เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ ฝุ่นละออง PM 10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 24 มกราคม 2561ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก/ลบม.) ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ณ 12.00 ณ วันที่ 24 มกราคม 2561 อยู่ในช่วง 54 – 85 มคก./ลบ.ม. สูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59 – 71 มคก./ลบ.ม. และสมุทรสาคร 114 มคก./ลบ.ม. สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 มคก/ ลบม.) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้
ครับผมช่วงนี้ กทม. เกิดสภาพอากาศนิ่งและชั้นอากาศผกผัน ทำให้มลพิษที่สะสมไม่ถูกระบายออกไปตามอากาศ และไอ้ PM 2.5 คืออะไรละ? โดยปกติทั่วไปแล้ว ฝุ่นละอองที่เราเห็นลอยฟุ้งอยู่ในอากาศนั้น มีชื่อเรียกเป็นทางการคือ Particulate Matter (PM) ซึ่งอาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในอากาศ เช่น อนุภาคต่างๆ เชื้อโรค ฝุ่นละออง จนทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างเป็นลักษณะหมอก หรือควัน อันตรายจากการสูดดมอนุภาคเหล่านี้ขึ้นอยู่กับขนาด ปริมาณ คุณสมบัติทางเคมี และความเป็นพิษของอนุภาคนั้นๆ ฝุ่นละอองในอากาศมีขนาดตั้งแต่ 500 ไมครอนจนถึง 0.2 ไมครอน ฝุ่นละอองขนาดน้อยกว่า 100 ไมครอนสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้ โดยที่ฝุ่นละอองขนาด 100 ไมครอนอาจแขวนลอยในอากาศได้เพียง 2-3 นาที ในขณะที่ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 0.5 ไมครอนอาจแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นปี
ฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งตามขนาดเป็น 2 ส่วน คือ ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ (ขนาดมากกว่า PM10 ขึ้นไป) และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (แบ่งเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ PM10,PM2.5 และ PM1) โดยมีแหล่งที่มาของฝุ่นละอองในบรรยากาศ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (Natural Particle) เกิดจากกระแสลมที่พัดผ่านตามธรรมชาติ ทำให้เกิดฝุ่น เช่น ดิน ทราย ละอองน้ำ เขม่าควันจากไฟป่า ฝุ่นเกลือจากทะเล และอีกหนึ่งกลุ่มเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของคนเรา (Man-made Particle) ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง รถบรรทุกหิน ดิน ทราย ซีเมนต์หรือวัตถุที่ทำให้เกิดฝุ่น ไอเสียจากรถยนต์ เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยเขม่า ฝุ่น ควันดำ ออกมา ฝุ่นที่เกิดจากกิจกรรมของการก่อสร้างต่างๆ และอีกแหล่งกำเนิดหนึ่งที่สำคัญ คือ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมาจากหลายกิจกรรม ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน ฟืน แกลบ เพื่อนำพลังงานไปใช้ในการผลิต กระบวนการผลิตที่มีฝุ่นออกมา เช่น การปั่นฝ้าย การเจียรโลหะ การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ เป็นต้น
Info Graphic ของฝุ่นละเอียด PM2.5
แล้วอย่างนี้เราจะมีวิธีป้องกันเจ้า PM2.5 นี่ยังไง ถ้าต้องออกไปบริเวณที่มีมลพิษเยอะ แน่นอนครับว่าถ้าหมอกควันจากมลพิษไม่หนามาก การที่เรานั่งรถประจำทางหรือใช้ขนส่งสาธารณะต่างๆอาจไม่จำเป็นต้องป้องกันอะไรมากมาย แต่หากว่าต้องผ่านในบริเวณที่มีมลพิษเยอะ หรือว่าต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน เราสามารถป้องกันได้โดยการใช้ หน้ากากครับ แล้วจะใช้หน้ากากแบบไหนละ หน้ากากผ้าที่ใช้กันอยู่ทั่วไปไม่สามารถใช้ได้นะครับ เพราะฝุ่นละเอียดมากทำให้รอดผ่านหน้ากากผ้ามาได้ เราสามารถใช้หน้ากากอีกแบบนึงที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปเช่นกัน คือ หน้ากากทุเรียนครับ ....เอ้า เชิญถอดหน้ากากครับ พาม!!! พ้าม!!! อิอิ ไม่ใช่ครับผม หน้ากากที่สามารถกันฝุ่นละเอียดได้ คือ หน้ากากN95 ความสามารถของมันคือ ป้องกันฝุ่นขนาด 0.1-0.3 ไมครอนได้ 95%ซึ่งเจ้าฝุ่นที่เรากลัว คือฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน การใช้หน้ากากN95 ก็จะป้องกันได้ระดับนึง ส่วนหน้ากากผ้าทั่วไปไม่สามารถใช้ได้นะครับ
หน้ากากผ้าแบบนี้กันฝุ่นPM2.5ไม่ได้นะครับ
หน้ากากN95 ใช้สำหรับกันฝุ่นละเอียดPM2.5ได้
ข้อมูลทั้งหมดนี่คงไม่ได้ทำให้ทุกท่านตื่นตระหนกเกินไปนะครับ เพราะว่ามันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แต่แค่มันส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ถ้ากังวลก็สวมหน้ากากN95 แล้วออกไปใช้ชีวิตปกติ ไม่ถึงขั้นออกจากบ้านไม่ได้เลย และไอ้หมอกที่เห็นมันเป็นหมอกจากฝุ่นควันมลพิษที่เกิดจาก การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม การเผาสิ่งต่างๆในที่โล่ง เป็นไปได้เราควรตระหนักถึงมลพิษที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าด้วยนะครับ รถยนต์ถ้าไม่จำเป็นก็ใช้ขนส่งสาธาณะ หรือว่าทางเดียวกันไปด้วยกัน ส่วนโรงงานก็ควรมีมาตราการป้องกันการก่อเกิดมลพิษที่เกิดจากตัวโรงงานเอง ถ้าเราช่วยๆกัน มลพิษต่างๆก็จะลดน้อยลง สภาพแวดล้อมก็จะดีขึ้น ส่งผลให้สุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจของทุกๆคนก็ดีขึ้นไปด้วย อ่อ และก็อย่าลืมนะครับ อยากทำเว็บไซต์ขายของ มาสมัครกับ SAKUNI ได้เลย https://sakuni-ecommerce.com/shop/price อิอิ ขายของก่อนไปหน่อยเนาะ
ขอขอบคุณความรู้จาก : https://www.facebook.com/PCD.go.th, https://www.facebook.com/HmxMaew, http://www.balanceenergythai.com/pm2-5-particulate-matte